0 5446 6666 ต่อ 1713
science.up@up.ac.th

ประชาสัมพันธ์


โครงงานสหกิจศึกษาเรื่อง Real-time face mask detector for preventing of COVID-19 ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับ 2 รางวัล ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 9 เมษายน 2564 โดย pimpilar.ch อ่าน 2333

โครงงานสหกิจศึกษาเรื่อง Real-time face mask detector for preventing of COVID-19 โดย นางสาวชนิดาภา  วินาลัย นิสิตชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นนิสิตในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การดูแลของนักวิจัยที่ปรึกษา ผศ.ดร.ไวพจน์ งามสอาด สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับรางวัลทางด้านสหกิจศึกษาถึง 2 รางวัล ดังนี้

  1. รางวัลชนะเลิศผลงานสหกิจดีเด่น ระดับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 นักศึกษาสหกิจศึกษาที่มีโครงงาน/ผลปฏิบัติงานด้านนวัตกรรมสหกิจศึกษาดีเด่น ระดับมหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการปฏิบัติงานใน สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้วิจัยได้รับมอบหมายหน้าที่เป็น ผู้ช่วยนักวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไวพจน์  งามสอาด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้าน Computational Physics, Robotics, Machine learning และ Deep learning และมีบุคลากรสายสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน คือ นายวิศิษฐ์ มั่งทัศน์ ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ โดยผู้วิจัยได้รับการส่งเสริมให้มีประสบการณ์ตรงในทักษะทางด้านวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพด้วยวิธีการเน้นการปฏิบัติจริง

จากการสังเกตและการสำรวจในอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พบว่ามีการคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ การตรวจวัดไข้โดยเครื่องวัดไข้ตั้งพื้นบริเวณหน้าประตูทางเข้าออกอาคารเรียน และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการตรวจการสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าอาคารเรียน หรือห้องเรียน ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยได้ปรึกษากับอาจารย์พี่เลี้ยงเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยอาจารย์พี่เลี้ยงได้ให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือในการดำเนินการเป็นอย่างดี โดยผู้วิจัยสนใจเรื่อง การประมวลผลภาพ (Image Processing) กระบวนการจัดการและวิเคราะห์รูปภาพให้เป็นข้อมูลในแบบดิจิทัล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในการตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งนี้ผู้วิจัยอาศัยหลักการการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และหลักการการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ในการใช้ตรวจจับใบหน้าผู้ที่สวมและไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยตลอดการจัดทำนวัตกรรม ผู้วิจัยได้รับความกรุณาจากอาจารย์พี่เลี้ยงและนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการ ที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงาน และเจ้าหน้าที่ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ช่วยอำนวยความสะดวกตั้งแต่การสำรวจจนกระทั่งการจัดเตรียมสถานที่ และนิสิตให้ความร่วมมือในการทดลองใช้โปรแกรมจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

                          

                                     

ภาพผังงานโปรแกรมตรวจจับหน้ากากอนามัย

ภาพแสดงการตรวจจับด้วยโปรแกรม

จากการจัดทำโปรแกรมตรวจจับการสวมหน้ากากอนามัย ผู้วิจัยพบว่าโปรแกรมดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงและเป็นที่พึงพอใจขององค์กร โดยผู้วิจัยเห็นว่าโปรแกรมตรวจจับการสวมหน้ากากอนามัยยังสามารถพัฒนาต่อได้อีกหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของสถานที่ และความต้องการของผู้ใช้งาน โดยผู้วิจัยหวังว่าจะได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป

            ทั้งนี้ผลงานสหกิจศึกษาของนางสาวชนิดาภา  วินาลัย จะได้คัดเลือกให้แข่งขันในระดับภูมิภาคต่อไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาจึงขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งในโอกาสนี้

สอบถาม/ดูรายละเอียดได้ที่  http://www.science.up.ac.th/physics

สอบถาม/ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/physics.up.info